พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543



                                        พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  .. 2543

                                                                       ภูมิพลอดุลยเดช ป..
                                                       ให้ไว้ ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.. 2543
                                                                   เป็นปีที่ 55 ในรัชกาลปัจจุบัน

                    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

                    พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
                    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
ดังต่อไปนี้
                    มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
 .. 2543"
                    มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                    *[รก.2543/9/1/17 กุมภาพันธ์ 2543]

                    มาตรา 3  ในพระราชบัญญัตินี้
                    "วิสาหกิจ" หมายความว่า  กิจการผลิตสินค้า กิจการให้บริการ กิจการค้าส่ง กิจการค้าปลีก หรือ
กิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                    "กองทุน" หมายความว่า  กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    "องค์การเอกชน" หมายความว่า  องค์การของเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามกฎหมายเฉพาะที่มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเป็นวิสาหกิจขนาดกลางหรือวิสาหกิจขนาดย่อมที่ดำเนินการในทางการอุตสาหกรรม การบริการ หรือการค้า และให้หมายความรวมถึงองค์การเอกชนอื่นที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย
                    "สำนักงาน" หมายความว่า  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    "คณะกรรมการ" หมายความว่า  คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    "คณะกรรมการบริหาร" หมายความว่า  คณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    "ผู้อำนวยการ" หมายความว่า  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
                    มาตรา 4  วิสาหกิจขนาดกลางหรือวิสาหกิจขนาดย่อม ได้แก่ วิสาหกิจที่มีจำนวนการจ้างงานมูลค่า
สินทรัพย์ถาวร หรือทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง
                    มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                    กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

                                                                                         หมวด 1
                                                  คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                                                                                   _________

                    มาตรา 6  ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงแรงงานและ
สวัสดิการสังคม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนสภาหอการค้า
แห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินสิบสองคนซึ่งแต่งตั้งโดยคณะ
รัฐมนตรีเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ
                    กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากผู้แทนองค์การเอกชนอย่างน้อยหกคน
                    ผู้แทนองค์การเอกชนตามวรรคสอง ต้องเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางหรือวิสาหกิจขนาดย่อมในภูมิภาคอย่างน้อยสามคน
                    มาตรา 7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
                    (1) มีสัญชาติไทย
                    (2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
                    (3) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
                    (4) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
                    มาตรา 8  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
                    ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
                    เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรง
คุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
                    กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
                    มาตรา 9  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 8 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
                    (1) ตาย
                    (2) ลาออก
                    (3) คณะรัฐมนตรีให้ออก
                    (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7
                    มาตรา 10  การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
                    ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
                    การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
                    มาตรา 11  คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
                    (1) กำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
                    (2) กำหนดลักษณะของกิจการอื่นตามมาตรา 3 เสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการประกาศในราชกิจจา
นุเบกษา
                    (3) กำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามมาตรา 4 เสนอต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง
                    (4) เสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศต่อคณะ
รัฐมนตรี และจัดให้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณะชนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
                    (5) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามมาตรา 37
                    (6) ให้คำแนะนำแก่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชนที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามมาตรา 37 มาตรา 38 และมาตรา 39
                    (7) เสนอแนะมาตรการด้านการเงิน การคลัง การภาษีอากร หรือด้านอื่นเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
ที่เกี่ยวข้อง
                    (8) เสนอให้มีกฎหมาย หรือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง
                    (9) กำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของ
รัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
                         (10) กำกับการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหาร
                         (11) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
                    มาตรา 12  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการมีอำนาจเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือแจ้งข้อเท็จจริง หรือให้ส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาได้
                    มาตรา 13  คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่
คณะกรรมการมอบหมายได้
                    ให้นำมาตรา 10 และมาตรา 12 มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
                    มาตรา 14  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้สำนักงาน ส่วน
ราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชน เป็นผู้ปฏิบัติการ หรือเตรียมข้อเสนอมายังคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปได้
                    มาตรา 15  ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ ประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด

                                                                       หมวด 2
                                             สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม


                    มาตรา 16  ให้จัดตั้งสำนักงานขึ้นเรียกว่า "สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" และให้เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
                    (1) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดประเภทและขนาดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม
                    (2) กำหนดประเภทและขนาดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สมควรได้รับการส่งเสริมรวม
ทั้งเสนอแนะนโยบายและแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (3) ประสานและจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับส่วนราชการ
หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชนที่เกี่ยวข้อง
                    (4) ศึกษาและจัดทำรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศ
                    (5) เสนอแนะต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการดำเนินการให้มีกฎหมายใหม่ การแก้ไขเพิ่มเติมหรือการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (6) บริหารกองทุนตามนโยบายและมติของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหาร
                    (7) ดำเนินงานธุรการของคณะกรรมการ คณะกรรมการบริหาร และคณะอนุกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหารแต่งตั้ง
                    (8) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย
                    ให้สำนักงานเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น
                    กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
                    มาตรา 17  สำนักงานมีอำนาจหน้าที่กระทำการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 16 และอำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
                    (1) จัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ โอนหรือรับโอนสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ ขายหรือจำหน่าย โดยวิธีอื่นใดซึ่งสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
                    (2) กู้ยืมเงิน หรือให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินหรือลงทุนทั้งนี้เพื่อการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นโดยรวมเท่านั้น
                    (3) ให้ความอุดหนุนหรือช่วยเหลือเพื่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (4) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประโยชน์แก่การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (5) ร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (6) รับค่าตอบแทนและค่าบริการในการให้บริการภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสำนักงานรวมทั้งทำความตกลงกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าบริการนั้น
                    (7) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
                    การกู้ยืมเงิน การให้กู้ยืมเงิน การลงทุน การให้ความอุดหนุน การให้ความ
ช่วยเหลือจากเงินกองทุนหรือการเข้าร่วมกิจการหรือถือหุ้นตาม (2) (3) หรือ (4) ถ้าเป็นจำนวนเงินเกินวงเงินที่
คณะกรรมการบริหารกำหนดตามมาตรา 20 (12) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
                    มาตรา 18  ให้มีคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประกอบด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน อธิบดีกรม
ส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิอีกเจ็ดคนซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ
                    กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมิได้เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำจำนวนอย่างน้อยห้าคน
                    มาตรา 19  ให้นำความในมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารโดยอนุโลม เว้นแต่การพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 9 (3) ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ
                    มาตรา 20  คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายบริหารงาน ควบคุมกำกับดูแล กิจการโดย
ทั่วไป และรับผิดชอบซึ่งกิจการของสำนักงาน อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(1)          พิจารณาอนุมัติการดำเนินการของสำนักงานตามมาตรา 16 (1) (2) (3) (4) และ (5) เพื่อเสนอให้

คณะกรรมการพิจารณา

                    (2) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการและรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (3) อนุมัติแผนการดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณที่สำนักงานจะดำเนินการในแต่ละปี
                    (4) กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลการบริหารกองทุนของสำนักงาน
                    (5) พิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ในกิจการที่กำหนดไว้ในมาตรา 34
                    (6) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบัญชี และการเงินของสำนักงาน
                    (7) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงาน การบริหารงาน และการปฏิบัติงานของสำนักงาน
                    (8) กำหนดจำนวน ตำแหน่ง ระยะเวลาจ้าง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นของพนักงานและลูกจ้าง
                    (9) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การกำหนดตำแหน่ง การกำหนดอัตราเงินเดือนหรือ
ค่าจ้าง การเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง การออกจากงาน วินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์การลงโทษทางวินัย การ
ร้องทุกข์ของพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งการบริหารงานบุคคลโดยทั่วไป
                         (10) ออกข้อบังคับว่าด้วยการคัดเลือกผู้อำนวยการ การปฏิบัติงานของผู้อำนวยการและการมอบให้
ผู้อื่นรักษาการแทนหรือปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการ
                         (11) ออกข้อบังคับว่าด้วยสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่พนักงานและลูกจ้าง
                         (12) วางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการกู้ยืมเงิน และการให้กู้ยืมเงินรวมทั้งการลงทุน การให้ความอุดหนุน หรือการให้ความช่วยเหลือจากเงินกองทุน หรือการเข้าร่วมกิจการ หรือถือหุ้น
                         (13) วางระเบียบเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และวิธีการบริหารหรือจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุนตามมาตรา 36
                         (14) วางระเบียบการรับและเบิกจ่ายเงินของกองทุน
                         (15) จัดทำรายงานการรับและการจ่ายเงินของกองทุนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ
                    การจัดสรรเงินกองทุนตาม (5) และการกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบตาม (12) (13) และ (14) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว จึงให้ใช้บังคับได้
                    มาตรา 21  คณะกรรมการบริหารมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตามที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายได้
                    ให้นำมาตรา 10 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการบริหารและคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งโดยอนุโลม
                    มาตรา 22  ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการในคณะกรรมการบริหาร ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
                    มาตรา 23  ให้คณะกรรมการบริหารเป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการ รวมทั้งกำหนดเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนของผู้อำนวยการ  ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการและให้เป็นไปตามสัญญาจ้างที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
                    มาตรา 24  ผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
                    (1) เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (2) เป็นผู้สามารถปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานได้เต็มเวลา
                    (3) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พนักงานส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น พนักงาน หรือลูกจ้างประจำของสำนักงาน
                    (4) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7
                    มาตรา 25  ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
                    ผู้อำนวยการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน
สองวาระไม่ได้
                    มาตรา 26  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 25 ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
                    (1) ตาย
                    (2) ลาออก
                    (3) คณะกรรมการบริหารให้ออกโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
                    (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24
                    มาตรา 27  ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
                    (1) บริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสำนักงานและตามนโยบาย ข้อบังคับ ระเบียบ และมติของคณะกรรมการบริหาร และบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
                    (2) รับผิดชอบในการจัดการและดำเนินงานของสำนักงานตามที่คณะกรรมการบริหารมอบหมาย
                    (3) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานโดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
                    มาตรา 28  ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนของสำนักงานและเพื่อการนี้
ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
                    มาตรา 29  ให้สำนักงานวางและถือไว้ซึ่งระบบบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการแยกตามประเภทงานส่วน
ที่สำคัญ มีสมุดบัญชีแสดงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริง และ
ถูกต้องตามประเภทงาน  พร้อมด้วยข้อความและหลักฐานอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ
                    มาตรา 30  ให้สำนักงานจัดทำงบดุล บัญชีทำการ บัญชีแสดงรายรับ และบัญชีแสดงรายจ่าย ส่งผู้สอบบัญชี และให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี และให้ถือวันที่
31 ธันวาคม เป็นวันสิ้นปีบัญชี
                    ให้ผู้สอบบัญชีที่คณะกรรมการบริหารเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงานทุกรอบปี แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อเสนอคณะกรรมการ
                    ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองรายงานผลการตรวจสอบบัญชีตามวรรคสอง
                    มาตรา 31  ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี ให้สำนักงานทำรายงานประจำปีเสนอ
ต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อเสนอคณะกรรมการ โดยแสดงงบดุลบัญชีทำการ บัญชีแสดงรายรับ และบัญชีแสดง
รายจ่ายที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง พร้อมทั้งรายงานของผู้สอบบัญชีรวมทั้งแสดงผลงานของสำนักงานในปีที่ล่วงมาด้วย

                                                                           หมวด 3
                                            กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                                                                         _________                                                                    

                    มาตรา 32  ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานเรียกว่า "กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" ประกอบด้วย
                    (1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
(2)          เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
                    (3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
                    (4) ดอกผลหรือรายได้ของกองทุน
                    (5) เงินอื่นที่ได้รับมาเพื่อดำเนินการกองทุน
                    เงินทุนประเดิมตาม (1) และเงินอุดหนุนตาม (2) นั้น รัฐบาลพึงจัดสรรให้แก่สำนักงานโดยตรงเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
                    มาตรา 33  รายได้ของกองทุนและของสำนักงานให้นำส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในกิจการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการ
งบประมาณ
                    มาตรา 34  เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการดังต่อไปนี้
                    (1) ให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกู้ยืมสำหรับ
ดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของวิสาหกิจ หรือกลุ่มวิสาหกิจนั้นให้มีประสิทธิภาพและขีดความความสามารถเพิ่มขึ้น
                    (2) ให้ความช่วยเหลือส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชนเพื่อนำไปใช้
ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (3) เป็นเงินช่วยเหลืออุดหนุนการดำเนินการใด ร่วมกิจการ ร่วมทุน หรือลงทุนใดที่เกี่ยวกับการก่อตั้ง
การขยายกิจการ การวิจัย พัฒนาและการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นโดยรวม  ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
                    (4) เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานและการบริหารกองทุน
                    มาตรา 35  ในการพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนตามมาตรา 20 (5) ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาให้
สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามมาตรา 37
                    ในกรณีเป็นการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลาง วิสาหกิจขนาดย่อมหรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกู้ยืมตามมาตรา 34 (1)  ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณากำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินที่กู้ยืมจากกองทุน อัตราดอกเบี้ย และหลักประกันตามความจำเป็นและเหมาะสมด้วย
                    ในกรณีเป็นการให้ความช่วยเหลือส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์การเอกชนตามมาตรา 34 (2) ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาความจำเป็นตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจนั้นโดยในส่วนของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจให้คำนึงถึงงบประมาณแผ่นดินหรือเงินอุดหนุนที่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจนั้นได้รับการจัดสรรไว้แล้วด้วย
                    มาตรา 36  คณะกรรมการบริหารอาจมอบหมายให้สถาบันการเงินที่มีนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เห็นสมควรเป็นผู้จัดการกองทุนในเงินกองทุนส่วนที่จัดสรรตามมาตรา 34 และมาตรา 42  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกำหนดโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามมาตรา 20 (13)
                    ระเบียบตามวรรคหนึ่งต้องสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามมาตรา 37 และมาตรา 38

หมวด 4

แผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

                                                                       _________

                    มาตรา 37  ให้สำนักงานจัดทำแผนปฏิบัติการเรียกว่า "แผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" เพื่อปฏิบัติตามนโยบายและแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามมาตรา 11 (1) เสนอต่อคณะกรรมการบริหาร เพื่อเสนอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
                    แผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามวรรคหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                    มาตรา 38  แผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามมาตรา 37 ให้สำนักงานจัดทำโดยการประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสากิจที่เกี่ยวข้องโดยคำนึงถึงผลการวิจัยและพัฒนาตลอดจนสภาพความจำเป็นและเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจและสังคมของปัญหาดังกล่าวที่ส่วนราชการ หน่วยงานของ
รัฐ หรือรัฐวิสาหกิจนั้นต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยอาจจัดทำเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตามความเหมาะสม และควรจะต้องประกอบด้วยแผนงาน โครงการ กิจกรรม หรือ
มาตรการในเรื่องดังต่อไปนี้
                    (1) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในชุมชน ในภูมิภาค  และในท้องถิ่นชนบทโดยคำนึง
ถึงการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม
                    (2) การสนับสนุนและช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อปรับปรุงและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น
                    (3) การพัฒนาหรือจัดตั้งตลาดทุนหรือตลาดเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (4) การพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้ประกอบการและบุคลากรในวิสาหกิจ
ขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านการบริหาร การจัดการ การตลาด การผลิต และการพัฒนา
                    (5) การพัฒนาการจัดการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านการจัดการการผลิต การบริหารงานบุคคล การเงิน การตลาด ตลอดจนการจัดการเชิงประยุกต์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
                    (6) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงการส่งเสริมภาคลักษณ์ การพัฒนารูปแบบ และการบรรจุผลิตภัณฑ์
                    (7) การส่งเสริมหรือการสนับสนุนด้านการตลาด การขยายตลาดทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศ
                    (8) การส่งเสริม วิจัย และพัฒนา รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสมสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนการผสมผสานหรือประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
                    (9) การสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิสาหกิจ ตลอดจนการส่งเสริมพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
                    (10) การส่งเสริมเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและสนับสนุนระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับวิสาหกิจขนาดใหญ่
                    (11) การส่งเสริมการรวมกลุ่มของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกัน
                    (12) การส่งเสริมและพัฒนาองค์การเอกชนที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (13) การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการลงทุนและการประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (14) การให้สิทธิและประโยชน์เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเพื่อขจัดความ
เสียเปรียบหรือความจำกัดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    (15) การส่งเสริมสนับสนุนทางวิชาการด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมและด้านสุขอนามัย
                     (16) การปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ ขั้นตอน วิธีการ และวิธีปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคและเพิ่มต้นทุน
ต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                     (17) การส่งเสริมสนับสนุนด้านลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และทรัพย์สินทางปัญญาอื่น
                     (18) เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขึ้นใหม่ ตลอดจนการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถดำเนินการต่อไป หรือรวมทั้งสามารถขยายกิจการ และแข่งขันกับกิจการอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศได้
                    ในการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สำนักงานประสานกับองค์การเอกชนด้วย
                    มาตรา 39  ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ
ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตามแบบรายงานที่คณะกรรมการกำหนด
                    มาตรา 40  เพื่อให้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามมาตรา 37 บรรลุเป้าหมายและเพื่อประโยชน์ในการประเมินผลการดำเนินการตามแผนและการกำหนดแผนปฏิบัติการดังกล่าว ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่หน้าที่ตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจัดทำและรับรองสถิติข้อมูลเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมออกเผยแพร่
                    รายละเอียดของสถิติข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
                    สถิติข้อมูลที่จะทำการเผยแพร่ตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นสถิติข้อมูลที่แสดงภาพรวมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแต่ละสาขา เว้นแต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นจะยินยอมให้เผยแพร่สถิติข้อมูลในรายละเอียดอื่นได้ด้วย
                    ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจส่งสถิติข้อมูลที่จัดทำขึ้นตามวรรคหนึ่งให้สำนักงานเพื่อเก็บรวบรวมไว้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการจัดทำรายงานสถานการณ์และแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป
                    มาตรา 41  เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสถิติข้อมูลเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 40 ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือองค์การเอกชนที่ต้องรายงานสถิติข้อมูลต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 40

                                                                               หมวด 5
                                                        การส่งเสริมและการสนับสนุนของรัฐ
                                                                                _______

                    มาตรา 42  วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือองค์การ
เอกชน ที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนจากกองทุนตามมาตรา 34 ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงาน หรือสถาบันการเงินที่คณะกรรมการบริหารโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นผู้จัดการกองทุน หรือส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่คณะกรรมการบริหารโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
มอบหมาย แล้วแต่กรณี พร้อมด้วยรายละเอียดแสดงแผนงานและโครงการที่จะดำเนินการ
                    การขอและการให้ความช่วยเหลือ การส่งเสริม หรือการสนับสนุน ตลอดจนคุณสมบัติของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือองค์การเอกชนที่มีสิทธิขอความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
                    มาตรา 43  ในการพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนตามมาตรา 42 ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพิจารณาจัดสรรให้สอดคล้องกับแผนงาน โครงการกิจกรรม หรือมาตรการตามมาตรา 38 โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้และความจำเป็นในทางเศรษฐกิจการเงิน การลงทุน และเงินทุนหมุนเวียนของวิสาหกิจ กลุ่มวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชนผู้ยื่นคำขอ
                    มาตรา 44  เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความสามารถในการประกอบกิจการและแข่งขันกิจการอื่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดประเภทและขนาดของวิสาหกิจที่คณะกรรมการเห็นว่าสมควรได้รับสิทธิและประโยชน์ เพื่อเสนอแนะให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องสิทธิและประโยชน์ดังกล่าว พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจนั้น
                    ในการเสนอแนะตามวรรคหนึ่ง ให้ระบุรายละเอียดของสิทธิและประโยชน์ที่จะให้เพื่อเป็นการจูงใจในการประกอบกิจการ รวมตลอดถึงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาในการรับสิทธิและประโยชน์ของวิสาหกิจนั้นไว้ด้วย

                                                                              หมวด 6
                                             การเพิกถอนการส่งเสริมและการสนับสนุนของรัฐ
                                                                                ________

                    มาตรา 45  ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ประกอบวิสาหกิจ กลุ่มวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชนใดกระทำการโดย
ไม่สุจริต เพื่อให้วิสาหกิจ กลุ่มวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชนของตนมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือส่งเสริม หรือสนับสนุนตามมาตรา 42 หรือได้รับสิทธิและประโยชน์ที่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตามมาตรา 44 ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอน การช่วยเหลือ ส่งเสริมหรือ
สนับสนุน รวมถึงให้สิทธิและประโยชน์ที่วิสาหกิจ กลุ่มวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชนได้รับตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาสั่งเพิกถอนการช่วยเหลือส่งเสริม หรือสนับสนุน และให้สิทธิและประโยชน์ดังกล่าว
                    มาตรา 46  วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือองค์การ
เอกชนใด มิได้รายงานสถิติข้อมูลตามมาตรา 41 อาจถูกตัดสิทธิการได้รับการช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และสิทธิและประโยชน์ ตามมาตรา 42 และมาตรา 44
                    ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรตัดการช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และสิทธิและประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานแจ้งรายชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือองค์การเอกชนนั้น ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 44 พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจนั้น
                    มาตรา 47  ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่ได้รับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการตามมาตรา 11 (5) (6) (7) และ (8) และมาตรา 44 หรือต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 39 มาตรา 40 และมาตรา 46 วรรคสอง ต้องพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะ หรือข้อกำหนดของคณะกรรมการ ในกรณีที่เห็นว่าไม่อาจดำเนินการตามข้อเสนอแนะ หรือข้อกำหนดของคณะกรรมการได้ ให้รายงานประธานกรรมการหรือผู้ซึ่งประธานกรรมการมอบหมายพิจารณา พร้อมรายละเอียดแสดงเหตุผลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับ
ข้อแนะหรือข้อกำหนดเช่นว่านั้น หรือได้รับแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการ
                    ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือผู้ซึ่งประธานกรรมการมอบหมายเห็นควรดำเนินการกับรายงานตามวรรคหนึ่งประการใด ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

                                                                                   หมวด 7
                                                                               บทกำหนดโทษ
                                                                                     ______

                    มาตรา 48  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา 12 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

                                                                 บทเฉพาะกาล
                                                                      ______

                    มาตรา 49  ในวาระเริ่มแรก ให้อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ และเลขานุการในคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหาร และให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินงานในหน้าที่ของสำนักงานไปก่อนจนกว่าจะได้มีการจัดตั้งสำนักงานและมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการ  ทั้งนี้  ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          ชวน หลีกภัย
          นายกรัฐมนตรี

________________________________________________

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจส่วนใหญ่ของประเทศและมีความสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมยังขาดความสามารถในการประกอบการทั้งหมดทางด้านเทคโนโลยี การผลิตการจัดการ การตลาด และการเงิน ทำให้ไม่อาจแข่งขันกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ได้ และประกอบกับในสภาพการณ์ปัจจุบันประเทศไทยต้องเปิดเสรีทางด้านการลงทุน การบริการ และการค้า จึงทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประสบภาวะที่ต้องแข่งขันกับกิจการค้าทำนองเดียวกัน
มากยิ่งขึ้นทั้งระดับภายในประเทศและระดับนานาชาติ  ดังนั้น เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถพัฒนากิจการให้เกิดความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึง
สมควรจัดให้มีกระบวนการช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุน และมาตรการด้านสิทธิและประโยชน์ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ สมควรจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดลางและขนาดย่อมเป็นศูนย์กลางประสานระบบการทำงานของส่วนราชการ องค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

0 comments:

Post a Comment